ประกาศ

ห้วยตึงเฒ่าของเรา เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด
ตั้งแต่เวลา 06:30 - 18:00 น.

ถ่ายภาพวิวสวยๆ

ห้วยตึงเฒ่าของเรานั้น มีจุดให้ชมวิว ถ่ายภาพ และป้อนอาหารแกะ
บอกเลยว่าสวยมากๆจริงนะคะ

บริการต่างๆ

เรามีบริการต่างๆมากมาย อาทิเช่น ป้อนอาหารแกะ เรือแคนู
ขึ้นไปถ่ายรูปกับคิงคอง ให้อาหารปลา ซิปไลน์ รถเอทีวี
จักรยานน้ำ เดินทางไกล นั่งแพ และอื่นๆอีกมากมาย

สำนักงานโครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ประวัติความเป็นมา - เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเยี่ยมศูนย์เกษตรกรรมทหาร จทบ.ช.ม. โดยมี พล.ต.รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ เป็น ผบ.จทบ.ช.ม. ในขณะนั้นและได้ถวายการบรรยายสรุป การดำเนินงานโครงการของศูนย์เกษตรกรรมทหาร ได้ทรงทราบถึงปัญหาของการขาดแคลนน้ำที่จะนำมาใช้ทางการเกษตร จึงได้มีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น โดย พระองค์ทรงได้กำหนดแนวเขตที่จะสร้างสันเขื่อน และบริเวณที่จะขุดสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้นประมาณ ๓๐๐ ไร่ มีความจุ ๑.๔ ล้าน ลบ.ม. และได้กำหนดชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า”
โดยพระองค์ทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์ จำนวน ๒ ล้าน ๕ แสนบาท และใช้เงินจากรัฐบาลอีก ๒ ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔ ล้าน ๕ แสนบาท ในการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า และด้วยปัญหาของการบุกรุกพื้นที่ของราษฎร ในพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ รวบรวมราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ของทางราชการ ให้มาอยู่รวมกัน ณ บริเวณด้านทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำ โดยให้จัดแบ่งพื้นที่ให้แก่ราษฎรกลุ่มดังกล่าวจำนวน ๖๑ ครอบครัว ซึ่งจัดแบ่งเป็นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๒ งาน และเป็นพื้นที่ทำกิน ที่สวน ๒ ไร่ และที่นา ๑ ไร่ โดย ทภ.๓ ได้จัดตั้งโครงการจัด หมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาดำเนินงานโครงการ เพื่อพัฒนาส่งเสริมอาชีพ และดูแลความเป็นอยู่ของกลุ่มราษฏรในโครงการดังกล่าว ซึ่งจากความสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าตามพระราชดำริ และโครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ราษฎรหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า ดำรงชีพอยู่อย่างพอเพียง


ด้วยอาชีพเกษตรกรรมและไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ต่อมาโครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่าอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ได้สิ้นสุดโครงการลง แต่การดูแลราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่โครงการยังคงอยู่ในความดูแล ของ มทบ.๓๓ ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ รวมจำนวนกว่า ๒,๔๖๒ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ น.ส.ล. ที่อยู่ในความดูแลของ มทบ.๓๓

และต่อมาในปี ๒๕๔๐ กองทัพบก ได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตทหาร มทบ.๓๓ จึงได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าขึ้น ทั้งทางด้านการเกษตร และการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สำหรับประชาชนโดยทั่วไป โดยได้จัดตั้ง สำนักงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ขึ้นเพื่อดำเนินการและบริหารจัดการให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของกองทัพบก ในการให้บริการแก่ประชาชนโดยทั่วไป ได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ฝึกอบรม และจัดกิจกรรมในด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และการออกกำลังกายรวมทั้งช่วยส่งเสริมสร้างสวัสดิการและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและราษฎรหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า รวมถึงกําลังพลของหน่วยในกองทัพบก ตลอดจนครอบครัว รวมทั้งสินค้าโอทอป, สินค้าทางการเกษตรของเกษตกรในพื้นที่ อันมีผลในการเสริมสร้างขวัญและกําลังใจในการปฏิบัติราชการรวมทั้งการอํานวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่น

สำนักงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ได้ดำเนินการและบริหารจัดการโครงการ โดยได้มุ่งเน้นการรักษาสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของราษฎรหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า และให้บริการด้านการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ราษฎรของหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า, กําลังพลครอบครัวของ มทบ.๓๓ และหน่วยทหารในพื้นที่ จว.ช.ม. รวมทั้งสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเขตทหารของกองทัพบก ในการให้บริการแก่ประชาชนโดยทั่วไป ได้เป็นอย่างดี